เปิดร้านเครื่องเขียน กิ๊ฟช็อป คำแนะนำในการเปิดร้านใหม่

 

คำแนะนำเบื้องต้นในการเปิดร้านเครื่องเขียนใหม่

ก่อนอื่นขอเกริ่นก่อนนะครับว่าคำแนะนำนี้ เขียนขึ้นโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียนเอง (ผู้เขียนวิ่งเล่นอยู่ในร้านเครื่องเขียนตั้งแต่เริ่มจำความได้)

ดังนั้นหากเนื้อหามีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัย ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

1. ประเมินและศีกษาทำเลที่ตั้งร้าน

ขอให้ประเมินจำนวนคนและนักเรียนหรือนักศึกษาในบริเวณแถวที่คุณต้องการจะเปิดร้านก่อนครับ ว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไหน เช่น เด็กนักเรียนประถม นักเรียนมัธยม หรือ นักศีกษามหาวิทยาลัยครับ ประเมิน ระดับ และ ความชอบของสินค้าแต่ละประเภท เช่น ชอบสินค้าดีแต่ราคาสูง หรือว่า ราคาถูกแต่คุณภาพพอใช้ครับ (สำหรับข้อนี้ ขอย้ำว่าทำเล มีความสำคัญเป็นอย่างมากครับ รองลงมาคือใจที่อยากทำร้านเครื่องเขียนครับ)

2. สำรวจเพื่อตรวจสอบการประเมิน

ให้ไปสังเกตดูสินค้าตามแผนกเครื่องเขียนของห้างสรรพสินค้า หรือร้านโชว์ห่วยบริเวณแถวนั้นว่าลูกค้าบริเวณนั้นนิยมซื้อสินค้าใดครับ เพื่อให้แน่ใจได้มากยิ่งขึ้นว่า มีกลุ่มลูกค้าที่จะซื้อสินค้าที่คุณประเมินไว้แน่ๆ แล้วทำการจดไว้เป็นรายการสินค้าอย่างคร่าวๆ ครับ (จะมีประโยชน์เวลาเลือกซื้อสินค้าครับ)

3. เลือกและสำรวจแหล่งค้าส่งสินค้าเครื่องเขียน

เริ่มต้นอาจไม่ต้องลงทุนสูงมากครับ ลงทุนสัก 2-3 หมื่นบาทเป็นค่าสินค้า (หากคุณคิดว่ามีงบประมาณมากและทำเลที่ตั้ง ขายได้แน่ๆ ก็อาจเพิ่มงบประมาณได้ตามความเหมาะสม) โดยช่วงแรกอาจต้องเดินทางเข้าไปซื้อสินค้าด้วยตัวเองที่สำเพ็ง* ก่อนครับ เพราะจะได้เห็นตัวสินค้าจริง ๆ และให้เห็นภาพลักษณะการใช้งานและการจัดเรียงสินค้า

*สำเพ็งอยู่ บริเวณใกล้สี่แยกราชวงศ์ แถวถนนเยาวราช (เป็นย่านค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศครับ มีสินค้าเกือบทุกชนิดให้ซื้อมาขายต่อได้ครับ ทั้งเครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องกีฬา เครื่องประดับ ของเล่น กิ๊ฟช๊อป เครื่องมือช่าง รองเท้า สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ) โดยผมขอแนะนำร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าของเรา เป็นร้านขายส่งเครื่องเขียนโดยตรง ที่มีสินค้าหลากหลายครอบคลุมทุกประเภท หลายยี่ห้อ ราคาเชื่อถือได้ ใช้ระบบทันสมัย มีความสะดวกสบาย ติดแอร์ และมีพื้นที่มากที่สุดในบริเวณนั้นครับ คือ ร้านยูเนี่ยน สเตชั่นเนอรี่ อยู่บนชั้น 3 ของศูนย์ขายส่งสำเพ็ง เข้าไปจากซอยมังกรตรงถนนเยาวราช ตรงเข้าไปเจอ ธนาคารกรุงเทพอยู่ขวามือ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างร้านทองตั้งโต๊ะกัง (ตึกทรงโบราณ) ไป 6 ห้องครับ จะเจอตึกที่มีบันไดเลื่อนหน้าตึก ขึ้นไปชั้น 3 ได้เลยครับ โทร 02-2262661, 02-2242352 ครับ หรือถามทางคนแถวนั้นได้ครับ

ควรไปช่วงวันธรรมดาหรือโรงเรียนปิดเทอม เพราะช่วงโรงเรียนปิดเทอมหรือวันธรรมดา คุณสามารถเดินดูสินค้าได้สบายๆ ก่อนครับ สอบถามพนักงานและเจ้าของร้านได้ครับว่าสินค้าไหนดีไม่ดีอย่างไร ช่วงใกล้เปิดเทอมหรือ เสาร์ อาทิตย์ เป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่เข้าไปเดินเลือกซื้อสินค้าที่สำเพ็งกัน อาจยุ่งมากจนคุณเดินได้ไม่สะดวกครับ

 

ชั้นวาง เครื่องเขียน

 

4. เลือกซื้อสินค้า

จากรายการสินค้าที่ได้จากข้อมูลที่ได้ทำการประเมินกลุ่มลูกค้าไว้ ก็เตรียมสตางค์และไปทำการเลือกซื้อสินค้ามาครับ โดยพยายามเลือกสินค้าให้หลากหลายชนิดไว้ครับ แต่ละอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนมาก ซื้ออย่างละ 1 แพ็ค 2 แพ็ค ก็พอครับในช่วงระยะเริ่มต้น ไว้ขายดีขึ้นก็ค่อยซื้อมากขึ้นครับ

5. เริ่มทำการขายจริง

ไม่ต้องกลัวลูกค้าครับ เมื่อมีร้านและมีสินค้าแล้วก็ให้ทำการขายได้เลยครับ ช่วงแรก ๆ ไม่ต้องลงทุนมากในการจัดตกแต่งหน้าร้าน แต่พยายามให้ดูแปลกตา น่าเข้า น่าซื้อ (ป้ายโฆษณาสินค้าเครื่องเขียนยี่ห้อต่างๆ ก็ขอมา เพื่อมาประดับให้รู้สึกเป็นร้านเครื่องเขียนมาตรฐาน) และพยายามให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีสินค้าหลากหลายและมีสีสัน ให้คนแถวนั้นรู้ว่าเราเป็นร้านเครื่องเขียนเปิดใหม่น่าเข้ามาเดินชมเดินดู และราคาก็บวกกำไร น้อย ๆ ไว้ก่อนครับ เพื่อเป็นการโฆษณาในตัว จะได้บอกกันปากต่อปาก ( Word-of-mouth เป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่งในการโฆษณา)

6. หาสินค้าอื่นๆ มาร่วมขายด้วย

ธุรกิจเครื่องเขียนที่เน้นกลุ่มนักเรียน จะมีลักษณะเป็นธุรกิจที่เป็น Seasonal ครับ (แปลง่ายๆ ก็คือจะขายดีช่วงเปิดเทอมและจะซบเซาช่วงปิดเทอม ครับ) ดังนั้นเพื่อให้ร้านเครื่องเขียนสามารถอยู่ได้ทั้งปี ก็หาเอาสินค้ากิ๊ฟช๊อป เครื่องประดับและของเล่นต่างๆ ที่หาซื้อได้จากแถวสำเพ็งเช่นกันมาแซมขายได้ด้วยครับ ร้านจะได้ทำรายได้อย่างต่อเนื่องครับ

7. ระบบคิดเงินที่ใช้

ช่วงแรกก็ขายและคิดเงินแบบลงทุนน้อยไว้ก่อนครับ ก็คือใช้ระบบ Manual หรือก็คือใช้มือของเรา โดยมีเครื่องคิดเลขและบิลเงินสดเป็นอุปกรณ์ครับ แล้วใช้ป้ายราคาแปะที่ตัวสินค้าทุกๆชิ้น ในร้านเอาไว้ เพื่อป้องกันการขายผิดราคาเมื่อมีสินค้าเยอะขึ้นจนจำราคาไม่ได้ทั้งหมดครับ เมื่อยอดขายดีขึ้น ต่อไปก็พัฒนาระบบการขายไปเรื่อย ๆ ครับ เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ตัดสต๊อก และระบบบาร์โค้ด หากต่อไปต้องการขายให้กับหน่วยราชการหรือบริษัทต่างๆ ก็นำร้านค้าไปจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มครับ

หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ

 

ขอให้ทุกท่านค้าขายร่ำรวยประสบความสำเร็จครับ หวังไว้ว่าวันหน้าคงมีโอกาสได้รับใช้ครับ

 

บทความโดย: คุณสุภชัย ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท สุขสวัสดิ์เจริญ จำกัด จาก www.suksawat.net